วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การกระจายความเสี่ยง


ความเสี่ยงในการลงทุน คือ โอกาสที่เราจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่เราคาดหวังไว้จากการลงทุนนั้นๆ ซึ่งเราสามารถแบ่งความเสี่ยงได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
                1. ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อันเป็นเหตุให้ผู้ลงทุนต้องสูญเสียรายได้ หรือเงินลงทุน ประกอบด้วย ความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการ และความเสี่ยงในระดับอุตสาหกรรม
                2. ความเสี่ยงทางตลาด (Market Risk) คือ การสูญเสียเงินลงทุนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ลงทุน ซึ่งเป็นไปตามอุปสงค์ และอุปทานของตลาด
                3. ความเสี่ยงในอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยในตลาด
                4. ความเสี่ยงจากอำนาจซื้อ (Purchasing Power Risk) คือ ความเสี่ยงทีเกิดจากอำนาจซื้อของเงินที่ลดลง ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่ออำนาจซื้อ คือ ภาวะเงินเฟ้อ
                เหตุผลที่เราต้องกระจายความเสี่ยงก็เพราะว่า การลงทุนแต่ละประเภทมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน บางประเภทมีความเสี่ยงต่ำ ก็ทำให้อาจได้ผลตอบแทนที่ต่ำ ซึ่งอาจจะไม่ชนะเงินเฟ้อ เราก็เลยอยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดังที่เราอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “High Risk, High Expected Return” หรือ เมื่อเราลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้น เราย่อมคาดหวังอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่สูงขึ้น





แต่อย่างที่เคยกล่าวไว้เมื่อตอนที่แล้วว่า “ไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะชนะตลาดตลอดไป และไม่สินทรัพย์ใดที่จะแพ้ตลาดตลอดไป” การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ก็คือ “การไม่ใส่ไข่ไว้ในตะกร้าเดียวกัน” และเพื่อลดความผันผวนระหว่างทางของการลงทุน แต่ในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับนั้น ต้องเพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายในการลงทุนด้วย เราจะกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้อย่างไรบ้าง
                1. กระจายภายในสินทรัพย์ลงทุนประเภทเดียวกัน เช่น ถ้าลงทุนในหุ้นก็ควรจะกระจายไปในหุ้นหลายๆ ตัว หลายๆ อุตสาหกรรม อย่าถือหุ้นแค่ตัวเดียว หรืออุตสาหกรรมเดียว เพราะหากความสามารถในการทำกำไรของหุ้นที่เราลงทุนเปลี่ยนไป เราอาจมีโอกาสขาดทุนได้
                2. กระจายข้ามประเภทสินทรัพย์ เป็นการกระจายการลงทุนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ด้วยเหตุผล “ไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะชนะตลาดตลอดไป และไม่สินทรัพย์ใดที่จะแพ้ตลาดตลอดไป” ซึ่งนิได้ยกตัวอย่างการกระจายลงทุนแบบนี้ไปบ้างเมื่อตอนที่แล้ว
                3. กระจายข้ามประเทศ ในบางครั้งการลงทุนในต่างประเทศ ก็อาจทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้นกว่าการลงทุนในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามอย่าลืมพิจารณาถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
                อย่างไรก็ดี ขอทิ้งท้ายไว้ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” ด้วยนะคะสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวางแผนการเงิน สามารถส่ง email มาได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ






ผู้เขียน โค้ชนิ นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® เจ้าของผลงาน pocket book ‘เปลี่ยนชีวิตสู่ความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘มีเงินล้านด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘อยากรวยต้องรู้จักวางแผนการเงิน’ ‘รวยทะลุเป้า’ ‘12 ขั้นตอนสู่...นักวางแผนการเงิน’ และ ‘ขายทะลุเป้า เมื่อขายแบบที่ปรึกษา’





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การจัดการงานอาชีพ

ความหมายของอาชีพ                         อาชีพ  คือการทำมาหากินของมนุษย์  เป็นการแบ่งหน้าที่การทำงานของคนในสังคม  และทำให้ดำรงอาชีพใน...