การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของบุคคลนั้น
สามารถกระทำได้หลากหลายรูปแบบ
ในที่นี้ผู้เขียนขอแนะนำเทคนิคที่ใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของบุคคล
ซึ่งทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อการพัฒนาตนเองได้ดังนี้
1.
วิเคราะห์ตนเอง
ก่อนที่เราจะเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนตัวเอง สิ่งแรกที่ควรต้องทำคือ
การวิเคราะห์ตนเอง คนเรานั้นถ้ารู้ว่าตนเองมีความสามารถ
ความชำนาญหรือมีศักยภาพพิเศษในด้านใด ก็ควรที่จะต้องเสริมศักยภาพของตนในด้านนั้น
และควรที่จะต้องทำในสิ่งที่ตนเองมีความถนัดหรือมีความชำนาญ
และสำหรับความสามารถในด้านที่ยังขาดทักษะและความชำนาญก็ควรที่จะหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเป็นการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น
ในอนาคต
2. มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง
การที่จะพัฒนาตนเองได้ ต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
และต้องมีความมุ่งมั่นมากกว่าแค่ความตั้งใจ ต้องมีความเชื่อว่า
ศักยภาพของตนเองนั้นสามารถพัฒนาขึ้นได้ และทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ
ในการที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นคนใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น
และต้องเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งสิ่งดี ๆ ในชีวิตวันข้างหน้า
3. มองโลกในแง่ดี (คิดบวก)
“พรุ่งนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน”..... “ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้
และมีทางออกของปัญหาเสมอ”
หลายคนคงเคยได้ยิน 2 ประโยคนี้มาแล้ว
แต่ใครจะสามารถทำใจให้คิดและยอมรับกับความรู้สึกเหล่านี้ได้ตลอดเวลา
ในการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของบุคคลนั้น ใช่ว่าจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพในงานแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่การพัฒนาทางความคิดและทัศนคติในการทำงานก็จะเป็นปัจจัยเสริมต่อการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานให้เพิ่มขึ้น
ดังนั้นการมองโลกในแง่ดี หรือการคิดบวกนั้น เป็นพฤติกรรมของบุคคลที่ควรปฏิบัติ
และสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เกิดเป็นนิสัย การมองโลกในแง่ดี
และการคิดบวกจะช่วยในการเสริมกำลังใจและสามารถช่วยลดปัญหาในเรื่องของความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี
ทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น และความขัดแย้งในตัวตนของตนเอง
4. ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
การหาความรู้เพิ่มเติมจะช่วยให้สมองได้รับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งการหาความรู้เพิ่มเติมไม่จำเป็นจะต้องเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ในขณะนั้นเพียงเท่านั้น
แต่เราสามารถหาความรู้ในด้านอื่น ๆ ที่เรายังไม่รู้เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม
อาทิเช่น ความรู้ทางด้านการตลาด เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย
โดยความรู้เหล่านี้เราสามารถหาได้จากการสัมมนา ฝึกอบรม อ่านหนังสือ หรือสอบถาม
พูดคุย ปรึกษากับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญก็ได้เช่นกัน ดังคำกล่าวที่ว่า
“ความรู้ไม่มีวันเรียนจบ และไม่มีใครแก่เกินเรียน”
อีกทั้งคนที่มีความรู้มากก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ง่าย หาทางออกของปัญหาได้มากขึ้น
แน่นอนว่าผลตอบแทนสูงสุดที่เราได้จากการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานนั้น
ไม่ได้อยู่ที่ผลงานของเราแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่อยู่ที่ศักยภาพทางสมองของเราได้มีการพัฒนามากขึ้น
พร้อมกับประสบการณ์และทักษะของการทำงานที่เฉียบคมมากขึ้นกว่าเดิม
5. ตั้งเป้าหมายในการทำงาน
เป้าหมาย เป็นปลายทางที่ต้องให้ไปถึง
ไม่ว่าจะในชีวิตการทำการหรือในชีวิตประจำวัน
โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายในการทำงานนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน
เพราะในการบริหารงานใด ๆ ก็ตาม มักจะเน้นที่ความสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจไว้หรือกำหนดไว้
ไม่ว่าจะกำหนดเอาไว้ในรูปแบบใดก็ตาม
ถ้าทำงานแบบมีเป้าหมายว่างานแต่ละอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบมีเป้าหมายของความสำเร็จอยู่
ณ จุดใด ภายในเวลาเท่าใด
ความชัดเจนของงานหรือการกำหนดแผนการปฏิบัติงานย่อมอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้
กว่าการที่จะปฏิบัติงานไปวัน ๆ หรือทำงานไปเรื่อย ๆ
โดยไม่มีจุดหมายปลายทางของความสำเร็จ
หากเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของบุคคล
การตั้งเป้าหมายในการทำงานควรเป็นการตั้งเป้าหมายให้อยู่ในระดับที่สูงกว่า
ศักยภาพปกติของตนจะดำเนินการได้เพื่อให้เกิดการพัฒนาในการที่จะให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย
ดังคำกล่าวที่ว่า “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง” นั่นเอง
6. วางแผนก่อนลงมือทำ
ในการทำงานนั้นนอกจากการกำหนดวัตถุประสงค์ในการทำงานแล้ว
การวางแผนช่วยให้งานบรรลุผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งยังช่วยลดเวลาและการใช้ทรัพยากรในการทำงาน การทำงานที่มีประสิทธิภาพนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยเงื่อนไขของการวางแผนงานที่ดี การวางแผนที่ดีเกิดจากความคิดที่รอบคอบ
คิดจากมุมมองที่หลากหลาย
การวางแผนเป็นการสร้างข้อเสนอของการดำเนินงานที่เป็นไปได้หลายทางเลือก
โดยเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก และยังเป็นการประเมินสถานการณ์ความเป็นไปได้ในการทำงานเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการทำงานได้อีกทางหนึ่งด้วย
ดังนั้นการวางแผนถือองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
มากยิ่งขึ้น
7. มีการสื่อสารที่ดี
การสื่อสารมีความสำคัญกับมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด
เนื่องจากการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการบอกความต้องการของตนเองต่อผู้อื่น
นอกจากนี้การสื่อสารยังเป็นความสามารถหรือทักษะที่ทุกคนมีมาตั้งแต่กำเนิดแม้แต่เด็กทารกที่ยังไม่สามารถที่จะพูดก็ยังมีทักษะในการสื่อสารเพื่อให้ได้ตามที่ตนต้องการ
อาทิเช่น
เมื่อเด็กทารกหิวก็จะส่งเสียงร้องเพื่อสื่อสารให้ผู้เป็นแม่ได้รับรู้ว่าตนต้องการที่จะกิน
(ดื่ม) นมแม่ เป็นต้น
เนื่องจากการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงความต้องการระหว่างบุคคล
โดยเฉพาะในการปฏิบัติงานนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะในการสื่อสารทั้ง การพูด
การอ่าน การเขียน และการฟัง รวมไปถึงการแสดงออกด้วยท่าทาง
โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น เพื่อให้ข้อมูล เพื่อชักจูงหรือโน้มน้าวใจ
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
เพื่อให้เกิดการยอมรับและได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้
ผู้ปฏิบัติงานควรมีการฝึกเพื่อเพิ่มทักษะในการสื่อสารให้เหมาะสมกับกาลเทศะสามารถเลือกใช้ทั้งวัจนภาษา
และอวัจนภาษาในการสื่อความหมายให้ชัดเจน เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
อันจะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ต่อไป
8. มีบุคลิกภาพดี
สุภาษิตที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง”
ยังคงใช้ได้ดีเสมอ บุคลิกและการแต่งกาย
เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่จะช่วยเสริมความสำเร็จในการทำงาน
การแต่งกายนั้นมีหลักการง่าย ๆ คือ อย่าพยายามแต่งกายมากเกินไป หรือน้อยเกินไป
และที่สำคัญการแต่งกายต้องให้เหมาะสมกับรูปร่าง และบุคลิกของตนเอง
อย่าแต่งกายแบบที่ไม่ใช่ตัวตนของตัวเอง การแต่งการตามแบบอย่างดารา นางแบบ
นั้นต้องคิดเสมอว่า
ผู้ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นเมื่อผลิตออกมาแล้วก็มีความต้องการที่จะจำหน่ายให้มาก
จึงต้องหาดารา นางแบบมาใส่โชว์ ดังนั้นการที่ดารา นางแบบคนหนึ่งใส่เสื้อตัวหนึ่งสวย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเมื่อเราใส่แล้วจะสวยเหมือนนางแบบ
การแต่งกายที่ดีสำหรับการทำงานก็คือ สะอาด สุภาพ และโชว์บุคลิกเฉพาะของคุณออกมา
9. สมาธิเพิ่มพลังในการคิด
สมาธิ คือ การที่มีใจตั้งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างแน่วแน่
กล่าวในภาษาชาวบ้านก็คือ การมีใจจดจ่ออยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ไม่ฟุ้งซ่านนั่นเอง การฝึกสมาธิมิใช่ด้วยเหตุผลของการเข้าถึงนิพานแต่เพียงเท่านั้น
แต่การฝึกสมาธิสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน
เพราะการฝึกสมาธินั้นทำให้ผู้ปฏิบัติมีจิตใจผ่องใส ประกอบกิจการงานได้ราบรื่นและคิดอะไรก็รวดเร็วทะลุปรุโปร่ง
เพราะว่าระดับจิตใจได้ถูกฝึกมาให้มีความนิ่งดีแล้ว เมื่อมีความนิ่งเป็นสมาธิดีแล้ว
ย่อมมีพลังแรงกว่าใจที่ไม่มีสมาธิ ดังนี้เมื่อจะคิดทำอะไร ก็จะทำได้ดี
และได้เร็วกว่าคนปกติ ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกสมาธิมาก่อน
การฝึกสมาธิจะช่วยในด้านการพัฒนาบุคลิกภาพ ทำให้เป็นผู้มีบุคลิกภาพดี
กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า มีความองอาจสง่าผ่าเผย มีผิวพรรณผ่องใส
มีความมั่นคงทางอารมณ์ หนักแน่น เยือกเย็น และเชื่อมั่นในตนเอง มีมนุษย์สัมพันธ์ดี
วางตัวได้เหมาะสมกับกาลเทศะ เป็นผู้มีเสน่ห์ เพราะไม่มักโกรธ มีความเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไป
การฝึกสมาธิบ่อย ๆ ทำให้เกิดปัญญาในการทำสิ่งใด ๆ
ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น นอกจากนี้การฝึกสมาธิยังช่วยคลายเครียด
และลดความเครียดที่จะเข้ามากระทบจิตใจได้ เมื่อเราไม่เครียด ร่างกายก็จะหลั่งสารทำให้เกิดความสุข
ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะมีภูมิต้านทานทั้งภูมิต้านทานทางจิตใจ
และภูมิต้านทานเชื้อโรค และยังทำให้ดูอ่อนกว่าวัยช่วยชะลอความแก่ได้ด้วย
10.สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
สุขภาพร่างกายมีส่วนสำคัญต่อการปฏิบัติงาน
งานทุกอย่างจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้หากผู้ปฏิบัติงานเกิดการเจ็บป่วย
ผู้มีสุขภาพดีย่อมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นควรดูแลสุขภาพให้ดี
และออกกำลังกายสม่ำเสมอ การมีสุขภาพที่ดีเป็นสภาวะที่ร่างกายแข็งแรง
ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีความพิการใด ๆ ร่างกายสามารถทำงานต่าง ๆ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งลักษณะสุขภาพที่ดีทางกายนั้น ควรประกอบด้วย
ร่างกายที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง ระบบต่าง ๆ
และอวัยวะทุกส่วนทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ ร่างกายมีการเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ
เป็นไปอย่างเหมาะสมกับวัย รวมทั้งภาวะทางสมองด้วย
การที่จะมีสุขภาพร่างกายที่ดีได้นั้นร่างกายต้องได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
และการพักผ่อนที่สุดคือ การได้นอนหลับอย่างพอเพียง
ภายหลังจากการนอนหลับและพักผ่อนแล้ว ร่างกายจะคืนสู่สภาพปกติสดชื่น
พร้อมรับกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือภารกิจในวันต่อไป
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของบุคคล
ที่ผู้เขียนได้นำเสนอเพียงหวังให้ผู้อ่านได้นำไปปฏิบัติเพื่อการพัฒนาตนเอง
ซึ่งนอกจากแนวทางปฏิบัติดังกล่าวแล้วยังมีแนวทางปฏิบัติอื่น ๆ
ที่สามารถกระทำได้อีกหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาตนเอง คือ
การมีจิตใจที่มุ่งมั่นในการที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทิศทางที่ดีขึ้นนั่นเอง
การที่เราจะพิจารณาถึงคนที่มีประสิทธิภาพนั้น
เราควรพิจารณาจากประเด็นต่อไปนี้
1.
ความฉับไว หมายถึงการใช้เวลาได้อย่างดีที่สุด รวดเร็ว ไม่ทำงานล่าช้า
แบบเช้าชามเย็นชาม นั่นคือคนที่มีประสิทธิภาพถ้านายมอบหมายงานให้ทำภายในเวลา 10
นาที ก็ควรทำให้เสร็จตามกำหนด ไม่ควรใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมง หรืองานบริการ
ผู้รับบริการย่อมต้องการความรวดเร็ว
ดังนั้นผู้ให้บริการจะต้องสร้างวัฒนธรรมการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ( One Stop Service )
2.
ความถูกต้องแม่นยำ หมายถึงการผิดพลาดในงานน้อย ตลอดจนมีความแม่นยำในกฎระเบียบ
ข้อมูล ตัวเลข หรือสถิติต่างๆ
ตลอดจนไม่เลินเล่อจนทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์การ ต้องตรวจทานงานก่อนเสนอนายเสมอ
3.
ความรู้ หมายถึงการมีองค์ความรู้ในงานดี รู้จักศึกษาหาความรู้ในเรื่องงานที่กำลังทำอยู่
ตลอดเวลา มิใช่การมีวุฒิการศึกษาสูงเท่านั้น
แต่คนที่มีประสิทธิภาพจะเป็นผู้ที่แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลาดังคำกล่าวที่ว่า ” No one is too old to learn ” หรือที่เรียกว่า
” พวกน้ำไม่เต็มแก้ว ” ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากองค์การ เรียนรู้จากผู้อื่น
เรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต เป็นต้น โดยเรียนให้ ” รู้จริง และรู้แจ้ง ”
และนำความรู้นั้นมาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
4.
ประสบการณ์ หมายถึงการรอบรู้ หรือรู้รอบด้าน จากการการได้เห็น ได้สัมผัส
ได้ลงมือปฏิบัติบ่อยๆ มิใช่มีความรู้ด้านวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว เช่น
เป็นหมอที่รักษาคนไข้มานาน เป็นอาจารย์ที่สอนนักศึกษามานาน
หรือเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการมานาน บุคลเหล่านี้เราอาจเรียกว่า ”
ผู้มีชั่วโมงบินสูงในการทำงาน ” คนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์สูง
จะทำงานผิดพลาดน้อย สมควรที่องค์การจะต้องธำรงรักษาบุคคลเหล่านี้ให้อยู่ในองค์การนานที่สุดเพราะคนเหล่านี้จะทำให้องค์การพัฒนาได้เร็ว
5.
ความคิดสร้างสรรค์ ( Creative
) หมายถึงการคิดริเริ่ม สิ่งใหม่ๆ มุมมองแปลกใหม่
ที่เรียกว่า” นวัตกรรม” ( Innovation)
มาใช้ในองค์การ เช่น
คิดระบบการให้บริการใหม่ๆที่ลดขั้นตอน คิดระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบใหม่
คิดวิธีการบริหารงานแบบเชิงรุก คิดปรับปรุงอาคารสถานที่แบบเอนกประสงค์ เป็นต้น
คนที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นคนที่ชอบคิด หรือ เก่งคิด
หรือมองไปข้างหน้าตลอดเวลาที่เราเรียกว่ามี ” วิสัยทัศน์ ” (Vision ) ไม่ใช่พวกที่ชอบทำงานตามคำสั่ง
และจะต้องไม่ทำงานประจำวันเหมือนกับหุ่นยนต์การพิจารณาความมีประสิทธิภาพของบุคลากรในองค์การที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
แต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นกรอบหรือทิศทางในการประเมินบุคคลในการปฏิบัติงาน
เพื่อพิจารณาความดี ความชอบ หรือเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่งได้เป็นอย่างดี
ทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข !
”
การทำงาน คือกระบวนการพิสูจน์ความสามารถ ความดีงาม อุดมการณ์ของตนเอง
อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จ และความสำเร็จในชีวิตการงานและครอบครัว ” การทำงานให้ดี
ประสบความสำเร็จจึงเป็นเป้าหมายหลักที่จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิต ( อารี พันธ์มณี.
2541 : 6 )
การเรียนรู้เทคนิคหรือกลยุทธ์ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นการย่นระยะทางของชีวิต
ประหยัดเวลา และถึงเส้นชัยได้เร็วกว่า หลายองค์การเรามักพบว่า
บุคลากรมีประสิทธิภาพในการทำงานไม่เท่ากัน จะเห็นว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการมีนิสัยที่ไม่ค่อยเหมาะสมหรือนิสัยที่ไม่ดีในการทำงาน
เช่น ชอบทำงานผลัดวันประกันพรุ่งเกียจคร้าน ขาดความอดทนที่จะรอคอย
วิตกกังวลถึงความล้มเหลว ไม่พอใจในการถูกตำหนิจากนายมีความขัดแย้งในหน่วยงาน
ตลอดจนปัดแข้งปัดขากันในการทำงาน ฯลฯ ดังนั้นผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จในการทำงานและอยากมีความสุขในการทำงาน
จึงควรพัฒนานิสัยที่ดี และมีเทคนิคในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. รู้จักตั้งเป้าหมายในการทำงาน
ก่อนที่จะเริ่มต้นในการทำงานทุกครั้งต้องตั้งเป้าหมายในการทำงานล่วงหน้า
และต้องเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน กำหนดให้อยู่ในรูปของการปฏิบัติการ (Action Oriented )ได้จริง
ทั้งเป้าหมายระยะยาว เป้าหมายระยะกลาง และเป้าหมายระยะสั้น
การตั้งเป้าหมายจึงเป็นการวางแผนการทำงานไว้ล่วงหน้า
ซึ่งจะช่วยทำให้การปฏิบัติงานมีทิศทาง ” เปรียบเสมือนเรือที่มีหางเสือ
“ผิดพลาดน้อย และตรงจุดมุ่งหมายขององค์การ
2. รู้จักบริหารเวลา จากคำกล่าวที่ว่า .
ทุกคนอาจมีทรัพยากรอื่นไม่เท่าเทียมกัน แต่ทุกคนมีทรัพยากร .เวลาวันละ 24
ชั่วโมงหรือ สัปดาห์ละ 168 ชั่วโมง เท่ากัน
จะเกิดประโยชน์คุ้มค่าแค่ไหนขึ้นอยู่กับการรู้จักบริหารเวลาของแต่ละคน
..เวลาจึงเป็นเงินเป็นทอง ... หรือ ลอร์ด เชสเตอร์ฟิลด์ ได้มีจดหมายถึงลูกชายว่า
“.พ่ออยากให้ลูกคำนึงถึงคุณค่าของเวลาที่แท้จริง ทุกคนชอบพูดว่าเวลาเป็นของมีค่า
แต่น้อยคนที่จะใช้เวลานั้นให้คุ้มค่าจริงๆ
คนโง่เท่านั้นที่ชอบปล่อยให้เวลาล่วงไปอย่างว่างเปล่า ด้วยการพูดพล่าม
ฆ่าเวลาโดยไร้ประโยชน์ นาฬิกาแดดตามสถานที่ต่างๆเป็นเครื่องเตือนสติพวกเราให้รู้ว่าควรจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างไร
และจะหาอะไรมาทดแทนไม่ได้เมื่อเราสูญเสียเวลานั้นไป “( บุญมาก พรหมพ้วย. 2541 :
15) จากคำกล่าวข้างต้นแสดงถึงความสำคัญของเวลา
และการรู้จักบริหารเวลาการบริหารเวลาให้เป็นจะช่วยลดความไม่เป็นระเบียบในชีวิต
เพิ่มความสุข และความสำเร็จให้แก่ตนเองและการทำงาน ยิ่งในภาคธุรกิจ
เวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก นักธุรกิจจะพยายามใช้เวลาในการเดินทางให้เกิดประโยชน์
มากที่สุด เช่น นั่งวางแผนกิจกรรมประจำวัน และอนาคต ฟังเพลง ฟังธรรมะพูดอัดเทป
พิมพ์งาน อ่านหนังสือ ฯลฯ
นอกจากนั้นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคนของโลกถือว่าเวลาสำคัญต่อความสำเร็จของตนมาก
เช่น โป๊ป ลี โอ ที่ 13 มหาเศรษฐีโอนาซีส ยอร์ช โซรอส( นักค้าเงินของโลก ) บิล
เกตส์ ( นักปฏิวัติวงการไอทีของโลก) พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้ใช้เวลานอนน้อย
ส่วนเวลาที่เหลือคือเวลาของการคิด และการทำงาน
เทคนิคการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพสามารถกระทำได้ดังนี้ !
2.1
ฝึกวางนโยบายเวลา หรือกำหนดตารางเวลาในการทำงาน
ว่าในแต่ละวันจะทำอะไรบ้างซึ่งจะทำให้เราสามารถควบคุมเวลาส่วนใหญ่ได้
และเป็นการสร้างวินัยแก่ตนเอง เช่นวัน เวลา ความสำคัญมาก ปานกลาง น้อย
2.2
ควร มีสมุดโน๊ต (Note
Book ) บันทึกการนัดสำคัญๆ
หรือกิจกรรมที่จะต้องทำในวันหนึ่งๆ เพื่อเตือนความจำ ป้องกันการลืม
หรือความสับสนในการทำงาน อันจะทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุอย่าคิดว่าเราเป็นคนจำแม่น
ไม่จำเป็นต้องมีสมุดช่วยจำ แต่ถ้าเรามีงานมาก
และมีเหตุการณ์อื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ย่อมทำให้ลืมงานบางประเด็นที่ต้องทำ
สมุดโน๊ตจะช่วยเราได้มาก
2.3 จัดลำดับความสำคัญของงานก่อน / หลัง (
Set Priority ) โดยการวิเคราะห์ว่า
งานใดสำคัญ และเร่งด่วนควรดำเนินการก่อน งานใดเป็นงานไม่สำคัญไม่เร่งด่วน
เป็นงานเล็กน้อยควรให้ความสำคัญอันดับหลัง
ยกตัวอย่างลำดับความสำคัญของงานที่ควรตัดสินใจ
2.3.1 งานสำคัญและเร่งด่วน เช่น
เตรียมข้อมูลงบประมาณเข้าประชุมพรุ่งนี้ 9.30 น.
2.3.2 งานที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ เช่น มีหน่วยงานภายนอกมาขอพบเพื่อเชิญคุณเป็นประธานการทอดผ้าป่าสามัคคี และผู้มาเชิญกำลังรอคำตอบ
2.3.2 งานที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ เช่น มีหน่วยงานภายนอกมาขอพบเพื่อเชิญคุณเป็นประธานการทอดผ้าป่าสามัคคี และผู้มาเชิญกำลังรอคำตอบ
2.3.3 งานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เช่น
การปรับปรุงสวนหย่อมของหน่วยงานการตรวจสุขภาพประจำปีของตนเอง
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ฯลฯ
2.3.4
งานที่ไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน หรืองานเล็กๆ น้อยๆ เช่น การทำความสะอาดโต๊ะทำงาน
การนัดเฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อน การการไปชมละครการกุศล ฯลฯ
2.4 ใช้เทคโนโลยีในการทำงาน / สั่งงานและ
ติดตามงาน เช่น การใช้โทรศัพท์ ติดต่อประสานงาน การประชุมทางโทรศัพท์ หรือการใช้ Teleconferencing System แฟกซ์
คอมพิวเตอร์การสั่งราชการโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อผู้ปฏิบัติงานจะได้ปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็วและผู้บริหารจะได้ประหยัดเวลาในการบริหารงาน
เพราะในโลกของความเป็นจริงผู้บริหารจะนั่งประจำที่โต๊ะทำงานน้อย
แต่กิจกรรมประจำวันส่วนใหญ่จะเป็นการประชุม เยี่ยมเยียนหน่วยงานเปิด- ปิดงาน
ติดต่อประสานงานภายนอกมากกว่า
2.5 กำหนดเส้นตาย ( Dead Line ) ของงาน
เป็นการบังคับให้ตนเองต้องทำงานตามเวลาที่กำหนด เช่น วันสุดท้ายของการส่งรายงาน
วันสุดท้ายของการเสนองบประมาณ ฯลฯ 2.6
จัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้สะดวก เพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน เช่น ใช้. เทคนิค 5 ส.
. เป็นต้น เพราะถ้าสภาพแวดล้อมในการทำงานดี หยิบง่าย ใช้คล่อง
มองก็งามตาย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่เสียเวลาในการทำงาน
2.7
หลีกเลี่ยงการผลัดวันประกันพรุ่ง การเลื่อนเวลาที่จะทำบ่อยๆจะทำให้เกิดความเคยชินยิ่งทำให้งานคั่งค้าง
เสมือน ” ดินพอกหางหมู “
2.8 สร้างเวลาที่มีอยู่ทุกที่
ที่มีโอกาสให้คุ้มค่า เช่น ในขณะที่หุงข้าว ก็ เอาผ้าใส่เครื่องซักผ้าเตรียมอาหาร
ฟังข่าวจากวิทยุ / โทรทัศน์ไปด้วย หรือขณะรอรถไฟ ก็อ่านหนังสือไปด้วย
2.9
ไม่ใช้เวลาฟุ่มเฟือยไปกับกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์ เช่น
ไม่ไปสถานที่อโคจรยามค่ำคืนไม่รับประทานอาหารแบบไม่กำหนดเวลา ไม่เดินทอดน่อง หรือ
สนทนาเรื่องไร้สาระฯลฯ
3. การเพิ่มความมั่นใจในการทำงานให้ตนเอง
ในโลกปัจจุบันนี้ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
หรือขาดความมั่นใจในการทำงาน ไม่กล้าแสดงออกในทางที่ถูกที่ควร
ดูถูกความสามารถของตนเอง คิดว่าตนเองมีปมด้อย ไม่เก่งเหมือนคนอื่น
และคิดว่าตนหมดหวังที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
ผู้เขียนขอแนะนำวิธีสร้างความมั่นใจในการทำงานให้ตนเองดังนี้
3.1 ฝึกมองหาข้อดี
หรือข้อเด่นและความสำเร็จของตนเอง เช่น อย่างน้อยเราเป็นคนที่มีความจำดี พูดเก่ง
เขียนหนังสือสวย เพื่อนฝูงรัก ครอบครัวอบอุ่น ใช้คอมพิวเตอร์เก่ง
ฯลฯจะช่วยให้เราภูมิใจตนเอง ความภูมิใจตนเองจะทำให้เราเห็นคุณค่าของตนเอง
และจะมีความมั่นใจในการทำงาน งานที่ออกมาก็จะมีประสิทธิภาพ
3.2
เสริมสร้างองค์ความรู้แก่ตนเองให้รอบด้าน หรือที่เรียกว่ามี ” ภูมิปัญญา ”
เช่นเป็นคนอ่านมาก ฟังมาก บันทึกคำขวัญหรือคติพจน์ สถิติ ตัวเลข สำคัญๆ
ที่เกี่ยวข้องกับงานของตน เช่นนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ที่มีข้อมูลตัวเลขมาก
เวลาพูดในที่สาธารณะจึงสร้างความความยอมรับจากผู้ฟังได้ดี
เมื่อผู้อื่นเกิดการยอมรับ ย่อมทำให้มีความมั่นใจตนเองสูงขึ้น
3.3 หลีกเลี่ยงการตำหนิตนเองในทางลบ
เพราะจะทำให้เราขาดความมั่นใจในตนเอง เช่นหลีกเลี่ยงการตำหนิว่า .
..ฉันขี้เหร่กว่าเพื่อน… ” ฉันอ้วนเกินไป.ฉันผอมเกินไป.”.
…งานนี้ฉันทำไม่สำเร็จแน่ๆ. . ”
ฉันคงไม่มีความสามารถเป็นตัวแทนคณาจารย์ของสภาประจำสถาบัน…”
3.4 พยายามสร้างมโนภาพในทางบวกให้กับตนเอง
เช่นคิดว่า . ..สักวันหนึ่งเราจะต้องร่ำรวย…
..เราจะต้องพบเนื้อคู่ในไม่ช้านี้แน่นอน.. … ” เราจะต้องถูกล๊อตเตอรี่ งวดนี้
แน่นอน.. “. .เราจะต้องมีสุขภาพดีแน่นอนถ้าเราออกกำลังกายสม่ำเสมอ…
3.5
ให้ปรับปรุงรูปลักษณ์ภายนอกของตนเองเสียใหม่ เช่น เปลี่ยนทรงผม
เปลี่ยนสไตล์เสื้อผ้า ลดน้ำหนัก ( ถ้าเป็นคนอ้วน) การดูแลรักษาผิวพรรณ
ปรับปรุงการพูด กิริยาท่าทางเสียใหม่จะทำให้เราเกิดความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น
3.6 จง กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
และกล้าประเมินตนเองว่าตนบกพร่องในเรื่องใดเพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไข
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ก้าวร้าวผู้อื่นด้วย
3.7 จงหาชัยชนะสัก 2 . 3
อย่างให้ตนเอง เพื่อจะได้พบการท้าทายที่ใหญ่กว่า เช่น
มีโอกาสลงแข่งขันกีฬาที่ชอบและชนะ ได้รับรางวัลประกวดคำขวัญ ประกวดเรียงความ
เขียนบทความ หรือได้รับการยกย่องเป็นครูดีเด่น เป็นต้น
4. มีความร่วมมือร่วมใจในการทำงานเป็นทีม
( Team Work ) หรือสร้างการทำงานเป็นทีมให้เข้มแข็ง
เพราะทีมงานเป็นกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จ และความล้มเหลวในการทำงานได้
ทีมงานที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีผู้นำที่มีความสามารถ มีการยอมรับซึ่งกันและกัน
มีความไว้วางใจกัน มีความรักใคร่ในทีมงาน
ร่วมมือร่วมใจในการทำงานอย่างจริงจังจริงใจ
ขจัดปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลในทีมงาน แบ่งผลประโยชน์ร่วมกันในทีมงานอย่างยุติธรรม
มีการติดต่อประสานงานที่ดีระหว่างกันโดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารระบบเปิด ( Open Communication ) และการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน
การมีทีมงานที่ดี เปรียบเสมือน ” วงดนตรีที่มีการประสานเสียงกันเป็นอย่างดี
เพลงย่อมมีความไพเราะ “
อุปสรรคบางประการที่อาจทำให้การสร้างทีมงานไม่มีประสิทธิภาพ
เช่น ผู้นำหรือผู้บริหารกำหนดเป้าหมายของงานไม่ชัดเจน
ผู้นำเห็นแก่ตัวและชอบนำความดีความชอบของลูกน้องมาเป็นของตน
สมาชิกของทีมงานไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
ระบบการติดต่อสื่อสารไม่ดี ขาดภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง เป็นต้น
5. ต้องมีคุณธรรมในการทำงาน
คุณธรรมที่สำคัญที่เราสามารถยึดเป็นแนวทางในการทำงานให้มีประสิทธิภาพคือ
หลักธรรมะที่เรียกว่า ” อิทธิบาท 4
” ในการทำงาน คือ ฉันทะ หมายถึง
ต้องมีความพอใจและรักใคร่ในงานที่ทำอย่างจริงจัง วิริยะหมายถึงความเพียรพยายามในงานที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
จิตตะ หมายถึงการมีใจจดจ่อต่องานที่ทำ มีสมาธิ ไม่วอกแวกทำงานผิดพลาดน้อย วิมังสา
หมายถึง การทบทวน ตรวจสอบงานที่ทำอยู่เสมอ ถ้าเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมาย
หรือผิดพลาดต้องปรับปรุงแก้ไข นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติงานในองค์การทุกคนจะต้องไม่ปฏิบัติหรือประพฤติในสิ่งที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์การ
หรือเกิดความลำเอียงในการปฏิบัติหน้าที่ตลอดจนมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต
ยุติธรรม และโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยยึดหลัก” ธรรมาภิบาล “( Good Governance ) ในการบริหารงานและปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด
6. ฝึกเป็นคนที่ชอบกระทำหรือลงมือปฏิบัติมากกว่าพูด
ที่เรียกว่า . Action Man
. อย่าเป็นคนประเภท ” ชอบพูดมากกว่าทำ ” ( Talk Man ) เพราะมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า
” คนที่พูดเก่งที่สุด มักเป็นคนที่กระทำน้อยที่สุด ” ( The greatest talkers are always the
least doers. ) เนื่องจากพูดง่ายกว่าการกระทำ
ดังนั้นถ้าองค์การมีแต่พวกชอบพูด และบางครั้งก็ชอบพูดไม่สร้างสรรค์
ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์การได้
7. รู้จักกระตุ้นเตือนตัวเอง
( to remind ) หรือสร้างแรงจูงใจ
( Motivation) ภายใน
ให้อยากทำงานตลอดเวลา โดยมิต้องให้ใครบังคับ มีศรัทธาในงาน และองค์การที่ทำงานอยู่
ให้คิดอยู่เสมอว่า. องค์การเปรียบเสมือนบ้านของเรา “
8. ปรับทัศนคติ
และค่านิยมที่ไม่เหมาะสมเสียใหม่ เช่น .การทำงานเป็นเล่น . .การประจบสอพลอ .
การมีเส้นสายหรือระบบพรรคพวก . . การเกรงใจโดยไร้เหตุผล .
ตลอดจนนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ขี้เกียจ .. ขี้โกง. ขี้ฉ้อ. ขี้อิจฉา.
ขี้ประจบ…
9. สร้างมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน
“มนุษยสัมพันธ์คือการใช้ศิลปะในการสร้างมิตรไมตรีต่อกัน” เช่น
รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน ให้อภัยกัน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
โดยปกติคนส่วนใหญ่เต็มใจและยินดีที่จะผูกมิตรไมตรีแก่กัน
ดังนั้นเราต้องเริ่มต้นที่ตัวเราจากการสนทนาหรือทักทายกับผู้อื่นก่อน
ฝึกเป็นคนที่รู้จักเสียสละหรือ ” ให้ ” มากกว่า “รับ ” ( Give more take less )รู้จัก
” ให้อภัย ” และ ” รู้จักลืม” ( forgive
and forget ) ความสัมพันธ์ในองค์การจะเป็นเสมือนโซ่ทองคล้องใจซึ่งกันและกัน
และจะช่วยผลักดันให้งานบรรลุผลสำเร็จได้ตามที่มุ่งหมายไว้กรณีถ้าเป็นผู้บริหาร
จะต้องมีเทคนิคในการบริหารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพนั้นได้มีนักวิชาการหลายท่านกล่าวเอาไว้มากมาย
ในที่นี้ใคร่ขอเสนอแนวทางที่ผู้บริหารจะประสบความสำเร็จในโลกของการบริหารอย่างแท้จริง
จากการรู้จักจัดการกับ 3
สิ่งคือ
1. การจัดการกับตนเอง
( Managing Yourself ) โดยเริ่มต้นที่การรู้จักวิเคราะห์ตนเอง
เปิดใจยอมรับจุดอ่อน จุดแข็ง ของตน เพื่อหาทางแก้ไขนิสัยที่ไม่ดี โดยค่อยๆลด ละ
หรือเลิกนิสัยเดิมทีละน้อยๆ จนเลิกได้ในที่สุด เช่น รู้จักศักยภาพทางความรู้
ความสามารถ ทักษะของตน รู้ฐานะทางการเงินของตนว่า มีหนี้สินหรือไม่ เพียงใด
หลังจากวิเคราะห์ตนเองแล้ว ต้องยอมรับจุดอ่อนของตน และสร้างเสริมนิสัยใหม่
เพื่อจะได้เป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้แก่
1.1
การทำงานเชิงรุก ( Proactive
) คือการทำงานที่มุ่งไปข้างหน้า
โดยใช้วิจารณญาณของตน ทำงานเชิงป้องกันไว้ก่อน ที่จะเกิดปัญหา
1.2
เริ่มต้นการทำงานทุกอย่างด้วยการกำหนดจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์เสมอเพราะจะทำให้เห็นทิศทางในการทำงานและวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายนั้น
1.3 จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของงาน
เพื่อไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมาย
1.4 คิดแบบ ชนะ – ชนะ ( Think Win – Win ) คือการสร้างทัศนคติให้ทุกฝ่ายในองค์การเป็นผู้ชนะด้วยกัน
ไม่ใช่ ” ชนะ – แพ้ ” จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์การ
1.5 รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
โดยเฉพาะต้องเข้าใจพฤติกรรม และความต้องการของผู้ใต้บังคับบัญชาเสียก่อน
เพราะผู้บริหารต้องอาศัยบุคลเหล่านั้นทำงานให้บรรลุจุดมุ่งหมาย
1.6
การประสานความคิดและความแตกต่างระหว่างกันในองค์การให้เป็นหนึ่งเดียว
เพื่อสร้างพลังในองค์การให้ร่วมกันพัฒนาและฝ่าฟันอุปสรรค
1.7
ความสามารถควบตนเอง ( Self
– Regulation ) โดยเฉพาะการคุมอารมณ์ (Emotional Intelligence ) ผู้บริหารที่ดีจะต้องควบคุมอารมณ์ในการปฏิบัติงานได้
และคำนึงถึงผลกระทบของภาวะอารมณ์ตนที่อาจจะเกิดกับผู้อื่นอยู่เสมอ
2. การจัดการกับคนในองค์การ
( Management People ) ผู้บริหารจะต้องตระหนักถึงคนในองค์การ
โดยเริ่มต้นจากการเข้าใจธรรมชาติของคน นิสัยใจคอพื้นฐาน และความต้องการเสียก่อน
เมื่อเข้าใจผู้ใต้บังคับบัญชาในองค์การแล้ว ผู้บริหารต้องรู้จักใช้แรงจูงใจ ( Motivation) เพื่อให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวกในการทำงาน
นอกจากนั้นผู้บริหารจะต้องใช้หลักการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ( Participation )การกระจายงาน(
Decentralization ) การมอบหมายงงาน
( Empowerment ) การติดต่อสื่อสารแบบสองทาง
ตลอดจนการการกำกับติดตามควบคุมงาน ( Monitoring ) อยู่ห่างๆ
3. การจัดการกับงาน
( Managing Work ) ผู้บริหารต้องรู้จักใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์องค์การ
บริหารองค์การ โดยเน้นคุณภาพเป็นหลัก หรือการนำเอกหลักการบริหารคุณภาพ (QualityManagement)มาใช้
ปรับปรุงระบบการทำงานแบบใหม่ จัดคนให้เหมาะกับงาน
วางแผนการจัดสรรและควบคุมงบประมาณ การจัดระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ
ตลอดจนการจัดสภาพแวดล้อมในการ ทำงานที่เหมาะสม และเอื้ออำนวยต่อการทำงาน
นอกจากนั้นผู้บริหารจะต้องปรับองค์การไปสู่ ” องค์กรแห่งการเรียนรู้ “(Learning Organization) ซึ่ง
Peter Senge (โสมสกาว
สนิทวงศ์ฯ. 2543 : 47 ) ได้สรุปว่า
” องค์กรแห่งการเรียนรู้เป็นองค์กรที่บุคคลภายในองค์กรได้ทำการเพิ่มพูนความรู้
สมรรถภาพศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง
เพื่อสร้างสรรค์ผลผลิตและอนาคตที่ดีแก่องค์การ โดยเน้นการเรียนรู้ร่วมกัน
ส่งเสริมสนับสนุนการคิดใหม่ๆที่ได้จาการเรียนรู้และนำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ในองค์การ”
สรุป
!
เทคนิคในการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่กล่าวมาทั้งหมดนี้
จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ผู้ที่ปฏิบัติงานในองค์การ
ทั้งผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชามีความสุขในการทำงาน เพราะ ” งานคือชีวิต
ชีวิตคืองาน หากงานดี ชีวิตก็จะดีตาม หากขาดงาน ก็คือขาดชีวิต ”
ทุกครั้งเมื่อคุณรู้สึกท้อแท้ และสิ้นหวัง…ให้คุณลงมือทำงาน หากคุณรู้สึกว้าเหว่
เดียวดาย… เหงา.ให้คุณลงมือทำงาน หากคุณรู้สึกสูญเสียและพ่ายแพ้.ให้คุณลงมือทำงาน…
งานจึงเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่ความสุข กำลังใจ ความหวังและพลังในการทำงานในองค์การให้มีประสิทธิภาพได้
เมื่อองค์การมีประสิทธิภาพ องค์การก็จะอยู่รอดและเติบโตก้าวหน้า
นั้นก็คือความยั่งยืนในการพัฒนาองค์การนั่นเอง..
ถึงเวลาแล้วที่พวกเราชาวราชภัฏทุกคนจะต้องหันมาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพเฉกเช่นหน่วยงานภาคเอกชนเสียที..
บรรณานุกรม
จักกรี เสริมทรัพย์. ( 2543, มกราคม-
ธันวาคม). ” คุณภาพชีวิตกับการทำงาน, ” วารวารนักบริหาร.
20 (1-4) : 52-57.
นันทนา ธรรมบุศย์. ( 2540 , – ) ” การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน, ” วารสารแนะแนว.
31 (166) : 25-30.
บุญมาก พรมพร้วย. ( 2541 ). การบริหารเวลา.
พิมพ์ครั้งที่ 7
กรุงเทพฯ : บริษัทสร้างสรรค์บุคก์จำกัด.
โสมสกาว สนิทวงศฯ. ( 2543,
กันยายน-ธันวาคม). ” การจัดการกับ ตน..คน..งาน,” วารสาร
สุทธิปริทัศน์. 14(44)
: 41-49.
อารีย์ พันธ์มณี. ( 2541, กรกฎาคม
– ธันวาคม) ” กลยุทธ์สู่ความสุขและความสำเร็จในการทำงาน,”
วารสารการแนะแนวและจิตวิทยาการศึกษา. 1 (1) : 6-10.
เทคนิคการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
ที่มา : ดร.พจน์ พจนพาณิชย์กุล (https://sites.google.com/site/potarticle/02)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น